Insight

เลือกประกันอัคคีภัยอย่างไรให้อุ่นใจ หายห่วง

Published

Read time

เลือกประกันอัคคีภัยอย่างไรให้อุ่นใจ หายห่วง

 

ถึงเหตุการณ์ไฟไหม้อาจจะเกิดขึ้นได้ไม่บ่อย แต่ก็เป็นเหตุการณ์ที่สามารถก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนัก ชนิดที่ทำให้มีสิทธิ์หมดเนื้อหมดตัวได้ โดยเฉพาะถ้าหากไฟนั้นลามไปยังบ้านใกล้เรือนเคียง ดังนั้นคงจะดีกว่าถ้าเรามีประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยไว้ก่อนเพื่อความอุ่นใจ หากเกิดเหตุอะไรขึ้นมา อย่างน้อยก็ช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ แต่ใครที่ไม่เคยซื้อประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยมาก่อนก็อาจต้องมึนตึ้บเมื่อต้องมาเลือกแผนกรมธรรม์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทุนประกันตัวอาคาร ทุนประกันเฟอร์นิเจอร์ และภัยต่างๆ ที่ก็ไม่แน่ใจว่าตรงกับความหมายที่ตัวเองเข้าใจไหม ซึ่งไม่ต้องกังวลไป เราจะช่วยแนะนำทุกอย่างเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความคุ้มครองของประกันอัคคีภัย ปัจจัยการคิดเบี้ยประกัน และวิธีเลือกประกันให้เหมาะสม

เลือกประกันอัคคีภัยอย่างไรให้อุ่นใจ หายห่วง

 

ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยคุ้มครองอะไรบ้าง?

ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยคุ้มครองตั้งแต่ตัวอาคาร บ้านเรือน หรือสิ่งปลูกสร้าง (ไม่รวมรากฐาน) เช่น บ้านเดี่ยว บ้านทาวน์เฮ้าส์ ตึกแถว ห้องชุด อาคารชุด ตลอดไปจนถึงโรงรถ กำแพง รั้ว ประตู และส่วนต่อเติม นอกจากนี้ทรัพย์สินภายในสิ่งปลูกสร้างหรือตัวอาคาร เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องตกแต่ง สิ่งติดตั้งตรึงตรา เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้า และทรัพย์สินอื่นๆ เพื่อการอยู่อาศัยของผู้เอาประกันภัย ก็ได้รับความคุ้มครองด้วย

ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยคุ้มครองกรณีไหนบ้าง?

หลายคนอาจเข้าใจว่าประกันอัคคีภัยก็ต้องคุ้มครองแค่เหตุไฟไหม้อย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วประกันอัคคีภัยคุ้มครองได้ครอบคลุมอีกหลายอย่าง เรียกได้ว่าเป็นกรมธรรม์ที่มีประโยชน์ไม่น้อยเลย ซึ่งโดยปกติการประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยจะคุ้มครอง 2 ลักษณะ ได้แก่ 6 ภัยปกติ (ที่อยู่ในมาตรฐานกรมธรรม์) และ 4 ภัยธรรมชาติ (ที่อยู่ในส่วนคุ้มครองเพิ่มเติม)

6 ภัยปกติ ได้แก่

  • ไฟไหม้
  • ฟ้าผ่า รวมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เกิดจากการลัดวงจรเนื่องจากฟ้าผ่า
  • ภัยระเบิด
  • ภัยจากยานพาหนะ หรือสัตว์พาหนะ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย แต่ต้องไม่ใช่ยานพาหนะของผู้เอาประกันภัยหรือสมาชิกในครอบครัว
  • ภัยจากอากาศยาน หรือวัตถุที่ตกจากอากาศยาน รวมถึงจรวดซึ่งขับเคลื่อนด้วยตัวเองและยานอวกาศ ยกเว้นจรวดที่เป็นอาวุธ
  • ภัยเนื่องจากน้ำที่เกิดจากอุบัติเหตุการรั่วไหลหรือล้นออกมา เช่น จากท่อน้ำหรือระบบปรับอากาศที่เกิดจากภายในอาคาร รวมถึงน้ำฝนที่ไหลผ่านช่องทางที่ชำรุด แต่ไม่รวมถึงน้ำท่วมจากภัยธรรมชาติ
เลือกประกันอัคคีภัยอย่างไรให้อุ่นใจ หายห่วง

 

4 ภัยธรรมชาติ ได้แก่

  • ภัยน้ำท่วม รวมถึงน้ำท่วมจากลมพายุ น้ำป่า และโคลนถล่ม
  • ภัยแผ่นดินไหว รวมถึงคลื่นใต้น้ำ สึนามิ
  • ภัยลมพายุ รวมถึงความเสียหายจากลม หรือน้ำที่ลมหอบมาเป็นคลื่นพัดเข้าฝั่ง แต่ไม่รวมทรัพย์สินกลางแจ้ง หรืออาคารที่ด้านใดด้านหนึ่งเปิดโล่ง
  • ภัยลูกเห็บ รวมถึงความเสียหายจากน้ำฝนหรือท่อน้ำเสียหายจากลูกเห็บ

ดังนั้นถ้าเจอกรมธรรม์ที่ระบุว่าคุ้มครอง “ภัยธรรมชาติ” ก็สามารถเข้าใจได้ว่าเป็น 4 ภัยที่ได้กล่าวไปตามนี้ 

ปัจจัยที่มีผลต่อเบี้ยประกันภัย?

โดยหลักเบี้ยประกันภัยจะคำนวณโดยอิงจากลักษณะของสิ่งปลูกสร้าง เช่น บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ อาคารพาณิชย์ วัสดุของสิ่งปลูกสร้าง เช่น ปูนทั้งหมด ไม้ทั้งหมด หรือเป็นปูนผสมไม้ และสถานที่ตั้ง สิ่งแวดล้อม

จะเลือกแผนประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยยังไงดี?

สิ่งที่สำคัญอย่างแรกคือต้องเลือกให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เรามี ตั้งแต่ทุนประกันภัยที่ควรเลือกให้ใกล้เคียงมูลค่าทรัพย์สินที่แท้จริงที่ต้องการเอาประกัน และหากบ้านของเราอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ภัยแผ่นดินไหว ภัยลมพายุ ภัยลูกเห็บ ก็ควรจะเลือกแผนประกันที่คุ้มครองภัยธรรมชาติเหล่านี้ด้วย โดยในปัจจุบันมีเว็บไซต์ของบริษัทประกันภัยมากมายให้เราสามารถลองเข้าไปกำหนดลักษณะที่อยู่อาศัยเพื่อประเมินเบี้ยประกันอัคคีภัยและทุนประกันภัยได้

แต่ถ้าหากใครรู้สึกว่าอยากจะประหยัดเบี้ยประกันภัยสักหน่อยให้เหลือเพียง 500 บาทต่อปี ก็สามารถเลือกซื้อแผนประกันแบบไมโครอินชัวรัส์ (Micro Insurance) แทนได้ ซึ่งถึงแม้ทุนเอาประกันภัยของไมโครอินชัวรันส์จะลดน้อยลงไป แต่อย่างน้อยก็จะช่วยคุ้มครองในส่วนสำคัญของที่อยู่อาศัยและช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้บ้าง ทั้งนี้ต้องขอบอกไว้ก่อนว่า ไมโครอินชัวรันส์นั้นจะคุ้มครองเฉพาะภัยจากไฟไหม้ ฟ้าผ่า และระเบิดเท่านั้น โดยภัยจากยานพาหนะ ภัยจากอากาศยาน ภัยเนื่องจากน้ำ จะไม่ได้รับความคุ้มครอง 

เลือกประกันอัคคีภัยอย่างไรให้อุ่นใจ หายห่วง

 

เมื่อเกิดเหตุแล้วจะสามารถเคลมค่าสินไหมได้ 100% ของความเสียหายเลยไหม?

คำตอบคือขึ้นอยู่กับว่าทุนประกันภัยที่เราทำไว้นั้นคิดเป็นเท่าไรของมูลค่าทรัพย์สินที่แท้จริง

  • หากทุนประกันภัยมากกว่าหรือเท่ากับ 70% ของมูลค่าทรัพย์สินที่แท้จริง แล้วเกิดกรณีเสียหายบางส่วน บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมเต็มจำนวน เช่น ถ้าทำทุนประกันภัย 900,000 บาท ขณะที่มูลค่าทรัพย์สิน 1,000,000 บาท (ทุนประกันภัยคิดเป็น 90% ของมูลค่าทรัพย์สินที่แท้จริง) เมื่อเกิดความเสียหาย 500,000 บาท บริษัทจะชดใช้เต็มจำนวน 500,000 บาท
  • หากทุนประกันภัยต่ำกว่า 70% บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมตามหลักการเฉลี่ย เช่น ถ้าทำทุนประกันภัย 500,000 บาท ขณะที่มูลค่าทรัพย์สิน 1,000,000 บาท (ทุนประกันภัยคิดเป็น 50% ของมูลค่าทรัพย์สินที่แท้จริง) เมื่อเกิดความเสียหาย 500,000 บาท บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหม 50% ของ 500,000 บาท ซึ่งเท่ากับ 250,000 บาทนั่นเอง

หากใครเลือกแผนประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยได้แล้วก็อย่าชะล่าใจไปจนลืมระวังเรื่องฟืนไฟกันนะ โดยเฉพาะในช่วงอากาศร้อนๆ ที่อาจทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าช็อตหรือลัดวงจรได้ อีกทั้งประกายไฟแม้เพียงนิดเดียวก็สามารถจุดติดและลุกลามได้รวดเร็ว ยังไงระวังไว้ก่อนก็ดีที่สุด จะได้อุ่นใจ หายห่วงทุกเวลา

แหล่งข้อมูลอ้างอิง: สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.), ไทยรี เทรนนิ่ง โดย บริษัท ไทยรี เซอร์วิสเซส จำกัด

สนใจซื้อประกันบ้าน

เลือกประกันอัคคีภัยอย่างไรให้อุ่นใจ หายห่วง